รีวิว Saucony Freedom ISO 2

SR – สวัสดีครับห่างหายจากการอัพเดทไปนานเลย ก็ยังคงวิ่งอยู่นะครับแต่ไม่ค่อยจะได้โพสเท่าไหร่ สำหรับวันนี้ก็มีรีวิวรองเท้าวิ่งถนนที่จัดได้ว่าเป็นรุ่นท็อปของ Saucony ในปีนี้อย่าง Saucony Freedom ISO 2 มาให้อ่านกันครับ มาลองดูกันครับว่านอกจากจะมีโฟม EVERUN แบบจัดเต็มทั้ง topsole และ midsole แล้ว Freedom ISO 2 นี่ยังจะมีของดีอะไรอีกบ้าง

สำหรับตัวผมนี่จะว่าไปแล้วก็เป็นแฟนคลับของ Saucony Kinvara มาตั้งแต่สมัยเริ่มวิ่งเลยครับ เคยใช้ไล่มาตั้งแต่ Kinvara 3 มา Kinvara 7 แล้วก็มา Kinvara 8 ที่ใช้มาเกือบจะสองปีแล้ว ซึ่งทุกรุ่นของ Kinvara ที่ใช้มาค่อนข้างตอบโจทย์ของการวิ่งของผมได้เป็นอย่างดี (ก็เลยใช้มาเรื่อยทั้งใส่ซ้อมวิ่งทั้งใส่วิ่งจริง) แล้วพอดีว่าช่วงเดือนก่อนทาง Saucony Thailand จะส่งรองเท้ามาให้ทดสอบอีก โดยมีตัวเลือกคือ Kinvara 10 กับ Freedom ISO 2 ผมก็เลยเลือก Freedom ISO 2 เพราะถึงจะเป็นแฟนของ Kinvara แต่ก็อยากจะลองพื้น EVERUN แบบเต็มเท้าดูบ้างว่าจะดีดจะเด้งขนาดไหน

ก่อนจะมาดูรองเท้าเรามาว่ากันด้วยเรื่องวัสดุของ midsole กันก่อนเลยครับว่าเจ้า EVERUN นี่มีดียังไง ก็คงต้องเท้าความกันยาวไปในช่วง 10-15 ปีที่ผ่านมาวัสดุที่ฮิตที่สุดจนแทบจะเป็นมาตรฐานในการทำ midsole รองเท้ากีฬาก็คือ EVA foam (Ethylene-Vinyl Acetate) เรียกได้ว่าเกิน 90% ของรองเท้าวิ่งที่วางขายกันอยู่ใช้ midsole ที่เป็น EVA foam ด้วยข้อดีคือ นุ่ม, เบา, รองรับแรงกระแทกได้ดี รองเท้าหลากหลายยี่ห้อก็เลยทำ EVA สูตรของตัวเองออกมากันมากมาย (อย่างของ Saucony เองก็มีพื้น EVA+ ที่ใช้ในรองเท้ารุ่น Kinvara มาจนถึงปัจจุบัน)

แต่พอสักประมาณ 5 ปีก่อนมีบริษัทเคมีจากเยอรมันชื่อ BASF ได้ทำการเปิดตัวโฟมแบบใหม่ที่เป็น E-TPU foam (Expanded Thermoplastic PolyUrethane) ด้วยชื่อในการตลาดว่า Infinergy ซึ่งมีข้อดีเรื่องการรองรับกระแทก (cushion) และมีการส่งคืนแรง (energy return) ที่สูงกว่า EVA มาก เรียกได้ว่าเป็นวัสดุอนาคตสำหรับรองเท้ากีฬาเลย จนกระทั่งมาถึงปัจจุบันรองเท้าแบรนด์ดังๆ หลายยี่ห้อก็มีการพัฒนาโฟม E-TPU ของตัวเองออกมาทำตลาดกันอย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะเป็น Boost ของ Adidas , EGO ของ Altra , NRGY ของ Puma , Hypergel ของ Asics และพระเอกของเรา EVERUN ของ Saucony
สำหรับจุดขายของ EVERUN ที่ Saucony ได้กล่าวไว้ก็มี ทนความร้อน/เย็นได้มากกว่า EVA 3 เท่า, มีความทนทานไม่สึกหรือยุบตัวเสียทรงเมื่อใช้ไปนานๆ ได้ดีกว่า EVA 3 เท่า (หลายท่านอาจเคยเจอ รองเท้าวิ่งที่ใช้ไปเรื่อยๆ แล้วโฟมมันเสียทรงยุบลงไปไม่คืนตัว), มีความยืดหยุ่นที่ดีกว่าด้วยตัวของวัสดุเอง ไม่จำเป็นต้องหล่อเป็นทรงแบบพิเศษเพื่อให้พื้นรองเท้ายืดหยุ่นโค้งงอได้ดีขึ้น และมีการส่งคืนแรงขณะวิ่งได้มากถึง 83%
Material & Design
การออกแบบของ Freedom ISO 2 ก็จะไม่ต่างจากรุ่นแรกมากนัก upper เป็นผ้าถัก (knit) แล้วก็มีการทอไล่สีหลายแบบ แล้วสีรองเท้านี่ก็มีเยอะมากครับ ถ้าเปิดดูในเวบไซท์ของ Saucony Thailand จะเห็นเลยว่า Freedom ISO 2 มีวางขายถึง 21 สี (ชาย 13 สี หญิง 8 สี) เลือกสีกันตาลายเลยครับเยอะจริง


สีที่ผมได้มาคือสี Teal/Black ซึ่งเป็นสีของปี 2019 ครับ ตัว upper ก็เป็นผ้า knit ทอขึ้นรูปไม่มีตะเข็บรอยต่อ แล้วเสริมความแข็งแรงด้วยการใช้ฟิล์มความร้อน FLEXFILM รีดติดเอาไว้ ตัว upper จะมีการทอไล่ความหนาของผ้าด้วย คือตรงช่วง toebox ด้านหน้าเท้าจะทอบางกว่าด้านข้าง เพื่อให้มีความโปร่งและช่วยระบายอากาศได้ดี โดยรวมแล้วถ้าเทียบกับ Kinvara 8 ผ้า knit ของ Freedom ISO 2 จะบางและโปร่งกว่านิดหน่อย ทำให้รู้สึกว่าใส่สบายขึ้น


ตรงรูร้อยสายของรองเท้าจะเป็นแถบซัพพอร์ตด้านข้างที่ Saucony เรียกว่า ISOKNIT ที่จะมีลักษณะเป็นซี่เหมือนกรง ซึ่งเมื่อเรารัดสายรองเท้า ISOKNIT แต่ละแถบจะโอบรัดกับหลังเท้าเพื่อเพิ่มความกระชับขณะสวมใส่ โดยเจ้า ISOKNIT ก็พัฒนาต่อยอดมาจาก ISOFIT แบบเดิมที่เป็นแถบพลาสติก แต่เดี๋ยวนี้เนื่องจากรองเท้าส่วนใหญ่เป็นผ้า knit แล้วก็เลยใช้การทอผ้าเป็นแถบ ISO แล้วเสริมด้วย FLEXFILM แทน



ในส่วนของลิ้นรองเท้าจะบุฟองน้ำไม่หนามากแล้วก็จะเย็บติดไปกับ midsole เลย เวลาใส่ก็จะให้ความรู้สึกที่กระชับเหมือนกับใส่ถุงเท้า ลิ้นรองเท้าด้านในกับแถบ ISOKNIT ด้านนอกทำงานร่วมกันได้เป็นอย่างดี
สำหรับบริเวณ toebox ค่อนข้างกว้างและโปร่งมาก ระบายอากาศได้ดี ผ้า knit ในส่วน upper ที่ทอให้แน่นน้อยกว่าส่วนด้านข้าง ทำให้โดยรวมแล้วโปร่งและระบายอากาศได้ดีมาก (ส่วนตัวแล้วคิดว่าโปร่งกว่าแล้วก็สบายกว่าผ้า knit ของ Kinvara 8)



สำหรับตะเข็บต่างๆ ด้านในรองเท้าก็เย็บเก็บได้ค่อยข้างดีไม่มีอะไรหลุดลุ่ย สมราคาเป็นตัวท็อปของ Saucony ตัวผ้าซับใน (liner) ของรองเท้าก็ยังคงเป็นผ้า RUNDRY เหมือนเดิม แปลว่าก็ยังคงแห้งเร็วและระบายอากาศได้ดีเหมือนเดิมเช่นกัน
ตัวแผ่นรองด้านในก็จะเป็นแผ่น EVA เหมือนรุ่นอื่นๆ เมื่อถอดออกมาก็จะเห็น topsole ที่เป็น EVERUN ครับ ในรูปด้านล่างจะเห็นว่าตัว topsole จะย้อมเป็นสีเขียวสีเดียวกับแผ่นรอง เพื่อให้สีแตกต่างจากตัว midsole ที่เป็นสีขาว (ตัว topsole นี่จริงๆ แล้วจะติดกาวไว้กับ midsole นะครับ หนาประมาณ 4-5 มม. แต่พอดีว่าผมอยากจะถ่ายรูปให้ดูก็แกะออกมา แหะๆ)



มาดูในส่วนของ midsole กันต่อครับ แน่นอนว่าเป็น EVERUN แบบเต็มแผ่น มี heel drop 4 mm. (ส้นเท้าหนา 23 mm. ฝ่าเท้าหนา 19 mm.) มีจุดที่ปรับปรุงจากรุ่นแรกอ้างอิงจากเวปไซท์ ตปท. คือ midsole ของ Freedom ISO 2 นี่จะหล่อขึ้นรูปให้โค้งรับกับรูปทรงฝ่าเท้ามากขึ้น (contoured to cradle) ทำให้ใส่สบายขึ้นกว่าเดิมเมื่อต้องวิ่งเป็นระยะวลานานๆ
Note: สำหรับความแตกต่างของส่วนที่เป็น topsole กับ midsole นั้นก็คือ EVERUN ที่เอามาทำ topsole จะมีคุณสมบัติที่นุ่มกว่าเพื่อให้สบายเท้าเวลาที่มีน้ำหนักกดลงไป แต่ EVERUN ที่เป็น midsole นั้นจะมีความเฟิร์มแน่นกว่า เพื่อให้รองรับแรงกระแทกและส่งแรงกลับได้ดีครับ


อีกหนึ่งเรื่องที่ผมชอบของ Freedom ISO 2 ก็คือ outsole ยางใสครับ เหตุผลหลักเลยก็คือเพราะมันสวย 😀 (ไม่ว่าจะเป็นรองเท้าอะไรก็ตาม จะดูพรีเมี่ยมขึ้นมาทันทีถ้าใช้ยางใสมาทำเป็น outsole) สำหรับตัวยางใสที่ใช้กับ Freedom ISO 2 นี่ทาง Saucony เรียกว่า Tri-Flex Crystal Rubber เป็นวัสดุที่นำมาใช้แทน carbon rubber หรือยางแข็งแบบที่ใช้กันอยู่ทั่วไป
มีคุณสมบัติเด่นก็คือ มีการยึดเกาะดี (traction) และ มีความทนทานสูง (durability) และด้วยความที่ยืดหยุ่น (flexibility) มากกว่ายางแข็งทั่วไป จึงทำให้สามารถออกแบบเพื่อใช้งานได้เป็นแผ่นยาวทั้งฝ่าเท้า โดยที่ไม่สูญเสียความยืดหยุ่นของรองเท้าโดยรวมไป ส่วนลายแพทเทิร์นของ Crystal Rubber นั้นทาง Saucony ก็ได้ออกแบบแพทเทิร์น Tri-Flex สำหรับทำงานร่วมกับ EVERUN แบบเต็มแผ่นโดยเฉพาะ โดยจะช่วยกระจายแรงกดออกไปให้ทั่ว midsole เพื่อเพิ่มความยึดเกาะในระหว่างวิ่ง



ตรงบริเวณส้นของรองเท้านั้นจะมีการเสริมโครงโพลิเมอร์ (Support Frame) เพื่อช่วยเพิ่มความกระชับบริเวณส้นเท้าระหว่างวิ่ง ตัวรองเท้านั้นจัดว่ามีรีเฟล็กซ์ที่ดีผิดคาดครับ เรียกได้ว่า Kinvara งอได้แค่ไหน Freedom ISO 2 ก็ไปได้แค่นั้นเลย ส่วนเรื่องความปลอดภัยถ้าใส่วิ่งเวลากลางคืนจัดว่าหายห่วงเพราะ Freedom ISO 2 มีแถบสะท้อนแสงรอบคัน ซ้าย, ขวา, หน้า, หลัง มีมาครบครับ
เรื่องน้ำหนักของรองเท้าก็ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างดีครับ เบอร์ 9 US ชาย จะหนักประมาณ 9.1 oz หรือประมาณ 257 กรัม ถือว่าไม่หนักเลยสำหรับรองเท้าที่เป็นพื้น E-TPU แบบเต็มแผ่น เมื่อเทียบกับรุ่นใกล้เคียงกันในท้องตลาด Freedom ISO 2 นี่ก็ถือว่าเบาระดับต้นๆ ของรองเท้ากลุ่มที่ใช้ midsole แบบ E-TPU แบบเต็มแผ่นครับ



Test Run
ใส่วิ่งวันแรกนี่รู้สึกแปลกๆ ครับ พื้น EVERUN แบบเต็มเท้ามันแบบหนึบๆ แน่นๆ ช่วงแรกที่ใส่วิ่ง พอวิ่งเสร็จแล้วกล้ามเนื้อที่เท้าและขามันเมื่อยในส่วนที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ก็เลยคิดว่าตัวรองเท้าคงมี responsive ตอนวิ่งต่างออกไปจาก Kinvara ที่ผมใช้อยู่ประจำ (ก็แหงล่ะเพราะโฟมที่ใช้มันคนละแบบกัน)
แต่พอปรับจังหวะยกเท้า-ลงเท้าไปนิดหน่อย ปรับเอาตามความรู้สึกที่เท้าตอนวิ่งก็เริ่มจะเข้ากันได้ สามารถใช้จุดเด่นเรื่อง energy return ของ EVERUN ได้ดีขึ้น เวลาวิ่งความเร็วช่วง tempo pace จะรู้สึกได้เลยถึงความเด้งจากแรงส่งของพื้นรองเท้า เรื่อง responsive ถือได้ว่าค่อนข้างดีครับ (แต่จะเป็นคนละแบบกับพวกรองเท้าพื้นบาง) ตัวพื้น EVERUN จะมีลักษณะแน่นๆเฟิร์มๆ หน่อย ไม่ได้นุ่มยวบลงไปเลย ปรับตัวเล็กน้อยก็วิ่งได้ดีล่ะครับ ไม่เมื่อยเท้าแบบพวกรองเท้านุ่มๆ ยวบๆ


เรื่อง toebox ผมบอกได้เลยครับว่าถูกใจคนหน้าเท้ากว้างแน่นอน ปกติแล้ว Kinvara ผมจะใส่เบอร์ US 8.5 มาตลอด แต่พอใส่ Freedom ISO 2 เบอร์ US 8 ปรากฎว่ามันกว้างพอกันเลยครับ ถึงทาง Saucony จะไม่มีค่อยมีรองเท้าไซส์ 2E มาทำตลาดเท่าไหร่ แต่สำหรับ Freedom ISO 2 คู่นี้ ด้วยความกว้างระดับน้องๆ 2E แบบนี้ จัดได้ว่าเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกสำหรับคนเท้ากว้างครับ แนะนำว่าควรจะไปลองไซส์ที่ร้านก่อนซื้อนะครับ เพราะบางทีอาจจะต้องลดไซส์แบบผม

Conclusion
หลังจากที่ใส่วิ่งไปประมาณ 65 กม. Freedom ISO 2 เป็นรองเท้าที่ใส่สบายมาก ผ้า knit ในส่วนของ upper สามารถระบายอากาศดีและแห้งค่อนข้างเร็วไม่รู้สึกร้อนหรืออับเท้า ตัวพื้น EVERUN แบบเต็มเท้าวิ่งช่วงแรกอาจจะรู้สึกแปลกๆ แต่พอปรับตัวได้ก็วิ่งดีวิ่งสนุกครับ รอวิ่งได้สัก 80-100 กม. รองเท้าน่าจะ break-in พอดี คงจะใส่วิ่งสบายกว่าเดิม
สำหรับข้อด้อยนั้นสำหรับผมน่าจะเป็นเรื่องเดียว คือ น้ำหนักรองเท้าที่ถึงแม้จะเบาระดับต้นๆ ของรองเท้าแบบเดียวกัน แต่ถ้าไปเทียบกับรุ่นอื่น เช่น Kinvara ก็ยังถือว่าไม่ได้เบามาก (Freedom ISO 2 หนัก 9.1 oz / 257 กรัม ส่วน Kinvara 10 หนัก 7.8 oz / 221 กรัม) แต่ก็ไม่ได้ถือเป็นข้อเสียอะไรมากมาย เพราะพอใส่วิ่งจนเข้าเท้าแล้วก็ชินครับ แค่จะไม่คุ้นช่วงแรกแค่นั้นเอง
โดยรวมแล้ว Freedom ISO 2 เป็นรองเท้าวิ่งที่ดีครบเครื่อง ไม่ว่าจะเป็นถนนแห้งถนนเปียก ก็สามารถวิ่งได้โดยมีการยึดเกาะที่ดี โฟม EVERUN มีความเด้งรองรับแรงกระแทกได้ดี มีแรงส่งเวลาวิ่งที่ดี ที่สำคัญมีความยืดหยุ่นดีด้วย ไม่ว่าจะเป็นนักวิ่งที่มีการลงเท้าแบบไหน ปลายเท้า, เต็มเท้า, ส้นเท้า ผมว่า Freedom ISO 2 ตอบโจทย์ได้หมด ก็ถือว่าเป็นอีกหนึ่งในตัวเลือกที่ดีของรองเท้าวิ่งในท้องตลาดและสมกับที่เป็นรองเท้าวิ่งตัวท็อปของ Saucony ในปีนี้ครับ หากสนใจรายละเอียดอื่นๆ เพิ่มเติมสามารถสอบถามข้อมูลได้ที่ Saucony Thailand ได้ครับ
Pros
- หน้าเท้าค่อนข้างกว้างมาก
- ใช้วัสดุและมีการตัดเย็บที่ดี
- พื้น EVERUN รับแรงกระแทกได้ดี
- การยึดเกาะถนนดี
- upper ใส่สบาย, ระบายอากาศดี
- มีสีให้เลือกเยอะ
Cons
- หน้ากว้างกว่า Saucony รุ่นอื่น อาจต้องลองไซส์ที่ร้านก่อนซื้อ
- นักวิ่งที่ชอบรองเท้าเบามาก (ต่ำกว่า 9 oz) อาจไม่คุ้นเวลาใช้งาน
- ราคาค่อนข้างสูง
รีวิว ละเอียดมากๆครับ ผมก็ใส่ freedom iso2 ถูกใจมาก ใส่จนจะพังแล้ว กำลังเรา เอนโดฟิน ครับ