รีวิว Saucony Kinvara 8

SR – หลังจากที่ส่ง Kinvara 7 มาวางตลาดพร้อมกับการเปิดตัวโฟม EVERUN เมื่อปี 2016 ก็คงจะเรียกได้ว่า Kinvara 7 นี่แทบจะเป็นรองเท้ารุ่น flagship ของ Saucony เลยทีเดียว ไม่ว่าจะใส่วิ่งซ้อมหรือใส่วิ่งจริง Kinvara สามารถตอบสนองการวิ่งได้เป็นอย่างดี พอมาถึงปีนี้ Saucony ไม่รอช้า ส่ง Kinvara 8 มาสานต่อความสำเร็จในทันที

เมื่อปลายปีที่แล้วผมได้รีวิว Kinvara 7 ไปนะครับ ซึ่งก็เป็นรองเท้าที่เรียกได้ว่าครบเรื่องรุ่นหนึ่งเลย จากนั้นเมื่อประมาณช่วงสองเดือนก่อนทาง Saucony Thailand ก็ได้ส่งรุ่น Kinvara 8 มาให้ทดสอบอีกคู่ครับ ซึ่งหลังจากลองทดสอบมาสักพัก รายละเอียดเรื่องวัสดุของรองเท้าจะค่อนข้างคล้ายรุ่นก่อนหน้า ถ้าใครยังไม่เคยอ่านรีวิวรุ่น 7 ก็ลองคลิกอ่านกันก่อนได้ที่ รีวิว Kinvara 7 นะครับ
ตอนที่ทาง Saucony Thailand ส่ง Kinvara 8 มาให้ทดสอบนั้น มีแนบบอร์ดดิ้งพาสมาด้วย 1 อัน เป็นบอร์ดดิ้งพาสไปดวงจันทร์ครับ งงเด้ งงเด้ ผมเลยลองไปหาข้อมูลดูว่า Saucony มีอะไรเกี่ยวกับดวงจันทร์ ก็ได้ความว่า Saucony นั้นเป็นบริษัทรองเท้ากีฬาที่เก่าแก่อันดับต้นๆ ของวงการ ช่วงแรกก็มีการผลิตรองเท้าบูตทหารด้วย หลังจากผลิตรองเท้าบูตอยู่หลายปี ทาง Saucony (ตอนนั้นคือบริษัท A.R. Hyde & Sons) ก็ได้ร่วมออกแบบและผลิตรองเท้าบูตสำหรับภารกิจไปดวงจันทร์ของยาน Apollo 11 และก็เป็นรองเท้าบูตคู่นี้เองที่ นีล อาร์มสตรอง ใส่เหยียบดวงจันทร์ครับ อ่านประวัติของ Saucony แบบยาวๆ ได้ที่ลิงค์นี้เลยครับ >> The History of Saucony Shoes

Material & Design
การออกแบบของ Kinvara 8 นี่แทบจะถอดจากรุ่น 7 มาเลย โดยเฉพาะในส่วน midsole กับ outsole ที่จะแตกต่างแบบเห็นได้ชัดหน่อยก็น่าจะเป็น upper ครับ ตอนนี้ Kinvara 8 ที่วางตลาดอยู่น่าจะมี 5 สี ซึ่งสีอื่นก็จะใช้ upper เป็นผ้า mesh (ผ้าตาข่าย) เหมือนกับที่ใช้ใน Kinvara 7 ยกเว้นอยู่สีเดียวคือสีเทา (Marl) ที่จะใช้ upper เป็นแบบ knit (ผ้าถักเหมือนถุงเท้า)



เนื่องจากรุ่นที่ผมได้มาทดสอบเป็นผ้า knit จะต่างจากผ้า mesh ของ Kinvara 8 สีอื่น ดังนั้นก็อาจมีข้อมูลต่างกันบ้างแต่การดีไซน์อื่นๆ โดยรวมนั้นจะเหมือนกันครับ มาดู upper กันดีกว่า upper แบบ knit นี้ใช้การทอขึ้นรูปมาก็เลยไม่มีตะเข็บรอยต่อ โดยเสริมความแข็งแรงของ upper ด้วยการใช้ฟิล์มความร้อน FLEXFILM รีดติดเอาไว้ ลองสังเกตดูแล้วจะเห็นว่า FLEXFILM ที่ใช้ใน Kinvara 8 จะบางกว่ารุ่น 7 เล็กน้อย เทคโนโลยีการผลิตคงดีขึ้นแหละครับ พอฟิล์มบางลงก็แปลว่า upper จะบางลงด้วย ทำให้ upper ขยับตัวได้ดีขึ้นเวลาสวมใส่




ข้อแตกต่างของ upper กับของรุ่น 7 อีกอย่างที่เห็นได้ชัดคือ Kinvara 8 นี้จะเจาะรูร้อยสายรองเท้าเป็นรูแบน ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วผมชอบนะเพราะเวลาร้อยสายแล้วมันจะไม่ค่อยม้วนเป็นเกลียวๆ 😀 ตัวลิ้นรองเท้านั้นเสริมฟองน้ำหนากว่าเดิม แต่ดีไซน์โดยรวมก็ยังเหมือนเดิมคือเย็บติดกับ upper และมีแถบ PRO-LOCK เย็บติดกับ midsole ยาวมาถึงรูร้อยสายตรงหลังเท้า สำหรับกระชับเท้าเหมือนกับรุ่น 7 โดยพลาสติกที่ใช้ทำแถบ PRO-LOCK ของ Kinvara 8 นี้ก็จะบางกว่าที่ใช้ในรุ่น 7 เช่นกัน



สำหรับด้านในของรองเท้าจะมองไม่เห็นตะเข็บนะครับเพราะมีแผ่น EVERUN มาแปะอยู่ แต่คิดว่าน่าจะเย็บตะเข็บแบบเดียวกับรุ่น 7 เพราะว่าใช้ midsole แบบเดียวกัน ตัว upper ที่เป็นผ้า knit ดูภายนอกเหมือนจะหนาแต่ถ้าส่องดูจากด้านในจะเห็นว่าโปร่งมาก ระบายอากาศได้ดีกว่าที่คิดครับ ส่วนผ้าซับในที่เป็นสีดำ (liner) ก็ยังคงเป็นผ้า RUNDRY ซึ่งยังคงมีจุดเด่นเรื่องแห้งเร็วและระบายอากาศได้ดีเหมือนเดิม


ในส่วน midsole และ outsole นี่เรียกได้ว่าใช้ตัวเดิมจากรุ่น 7 เลย ไม่ว่าจะเป็น heel drop 4 mm. ใช้วัสดุหลัก SSL EVA (Saucony SuperLite EVA) กับ EVA+ ซึ่งเป็น EVA foam น้ำหนักเบาของ Saucony แต่ที่พิเศษกว่ารุ่น 7 ก็คือโฟม EVERUN จากที่รุ่น 7 มีแค่บริเวณส้น ใน Kinvara 8 นี้ใช้ EVERUN แบบเต็มเท้าแล้วครับ (จะเรียกว่าเป็น topsole ก็ได้) พอวิ่งด้วย Kinvara 8 แล้วก็เลยจะรู้สึกได้ถึงความนุ่มของ EVERUN มากกว่ารุ่น 7 ครับ





แผ่นรองด้านใน (sockliner) เป็นแผ่น EVA เหมือนเดิม บริเวณ outsole ก็ใช้ดีไซน์แบบเดิมเหมือนรุ่น 7 เช่นกัน มีลายพื้นรองเท้าแบบ zig-zag เสริมความแข็งแรงด้วยยาง IBR+ บริเวณกลางเท้า และใช้ยางคาร์บอน XT-900 ที่แข็งแรงกว่าบริเวณปลายเท้าและส้นเท้า เรื่องน้ำหนักของรองเท้าก็ยังคงจุดเด่นเรื่องนี้ไว้ได้ดีเช่นเดิมครับ เบอร์ 9 US ชาย หนัก 7.9 oz หรือประมาณ 224 กรัม (หนักขึ้นนิดเดียวถ้าเทียบกับ Kinvara 7 ที่หนัก 221 กรัม) รวมไปถึงความ flexible ของรองเท้าก็ยังคงอยู่ในระดับดีเหมือนกับรุ่น 7 ครับ




Test Run
พอแกะกล่องถ่ายรูปเสร็จแล้ววันถัดมาผมก็ใส่วิ่งเลยครับ ความกว้าง toebox ถ้าดูจากขนาดของ midsole ที่เท่ากับรุ่น 7 มันก็น่าจะกว้างเท่ากัน แต่พอใส่วิ่งวันแรกผมรู้สึกว่ามันจะรัดกว่าเดิมนิดหน่อยแฮะ เดี๋ยวจะมาว่ากันเกี่ยวกับเรื่องนี้ในตอนท้ายครับ สำหรับ upper ที่เป็นผ้า knit ใส่แรกๆ จะรู้สึกไม่ค่อยคุ้นเท่าไหร่ แต่พอใส่ไปสักพักจะรู้สึกว่ามันนุ่มกว่าผ้า mesh ยิ่งถ้าไม่ใส่ถุงเท้านี่จะรู้สึกชัดเลยว่า upper จะนุ่มเหมือนถุงเท้าเลย ไม่แปลกใจเลยครับว่าทำไมหลายแบรนด์ถึงหันมาทำ upper แบบ knit กันหมด ใส่แล้วรู้สึกสบายเท้าดีครับ

ความรู้สึกขณะวิ่งนั้นจะคล้ายกับรุ่น 7 คือ midsole ค่อนข้างเฟิร์ม มี responsive ที่ดีเวลาวิ่ง ที่จะแตกต่างก็คือพอ Kinvara 8 ปรับมาใช้ EVERUN แบบเต็มเท้า คราวนี้ไม่ว่าจะลงเท้า forefoot หรือ midfoot ก็จะได้สัมผัสของความนุ่มของ EVERUN ล่ะครับ แต่จะไม่ได้เด้งอะไรมากมาย ออกแนวนุ่มๆ ช่วยลดแรงกดของฝ่าเท้ากับ midsole มากกว่า (ถ้าอยากได้เด้งๆ อาจต้องไปดูรุ่น flagship ของปีนี้อย่างรุ่น Freedom ISO ที่ใช้ midsole เป็น EVERUN ทั้งอันครับ)

upper ผ้า knit นี่เป็นอะไรที่ผมคิดว่าโดดเด่นจริงๆ จากรูปถ่ายตะเข็บรองเท้าด้านในจะเห็นว่าผ้า knit ที่เป็น upper นั้นค่อนข้างโปร่งมาก เวลาใส่วิ่งนอกจากจะกระชับและนุ่มแล้วตัว upper ก็สามารถระบายอากาศได้ดีกว่าที่คิด ผมได้ทดลอง วิ่ง/เดิน ทั้งบนถนนแห้งและลองวิ่งตากฝนดูช่วงสั้นๆ พบว่าผ้า knit นี้จะแห้งช้ากว่าผ้า mesh อยู่หน่อยครับ แต่ถ้าลองเทียบกันดูแล้วผ้า knit จะเด่นในเรื่องความความนุ่มและความกระชับ ส่วนผ้า mesh จะเด่นเรื่องการระบายอากาศและแห้งเร็ว จะเลือกใช้แบบไหนก็แล้วแต่ความชอบเลยครับ

Kinvara 8 นั้นมีข้อสังเกตเรื่องนึงที่นักวิ่งหลายท่านเจอ (ส่วนใหญ่จะเป็นนักวิ่งเท้ากว้าง 2E) คือรู้สึกว่า toebox นั้นไม่ได้กว้างเท่ารุ่น 7 เมื่อใส่ไซส์เดียวกัน ผมได้สอบถามเรื่องไปกับทาง Saucony Thailand แล้วได้ข้อมูลว่า upper นั้นมีขนาดเท่าเดิมเพราะ midsole นั้นใช้ตัวเดิม ขนาดของผ้า upper ที่ตัดเย็บก็เลยเป็นขนาดเดิมเช่นกัน แต่เพื่อความกระจ่างผมก็เลยลองวัดดูเทียบกันกับรุ่น 7 คู่เก่าของผมว่าเป็นยังไง

ถ้าดูจากรูปด้านบน Marl Kinvara 8 ที่มี upper เป็นผ้า knit นั้น จะเห็นว่ารองเท้าใหม่แกะกล่องวัด upper ดูแล้วจะแคบกว่า Kinvara 7 (ที่มีอายุการใช้งาน 8 เดือนและ upper ขยายตัวเต็มที่แล้ว) อยู่ที่ประมาณ 5 มม. ซึ่งผมเข้าใจว่าชิ้นผ้าของ upper นั้นขนาดเท่าเดิมแต่ด้วยเนื้อผ้าที่เป็นผ้าถักก็เลยอาจมีปัจจัยเกี่ยวกับการยืดหดของเนื้อผ้าเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย แต่พอได้ใส่วิ่งโดนเหงื่อโดนฝนอยู่ประมาณ 2 เดือน วัดใหม่อีกที toebox ก็กว้างเกือบเท่ากับ Kinvara 7 ล่ะครับ
สำหรับคนที่หน้าเท้ากว้างผมคิดว่าถ้าสนใจ Kinvara 8 แนะนำให้ไปลองใส่ตอนซื้อเลยจะดีที่สุดครับ ถ้าจะเผื่อยืดก็ใช้ไซส์เดิมแต่ถ้าอยากใส่สบายเลยก็ขยับไซส์เพิ่มขึ้นอีกสักครึ่งเบอร์ก็ดี ส่วนคนที่หน้าเท้ากว้างปกติหรือเท้าเรียวจะไม่มีปัญหาเรื่องนี้ครับ สามารถใส่ไซส์เดียวกับที่เคยใส่ Kinvara 7 ได้เลย
Note : วัดด้วยไม้บรรทัดอาจมี error บ้างนะครับ แต่ถือว่าเป็นข้อมูลคร่าวๆ ว่าผ้า knit ใช้ไปเรื่อยๆ มันจะยืดออกได้พอสมควร

Conclusion
หลังจากใส่วิ่งไปประมาณ 50K ข้อดีต่างๆ ของ Kinvara 7 ยังคงมีอยู่ครบไม่ว่าจะเป็นเรื่องน้ำหนักรองเท้าที่เบา, responsive ในการวิ่งที่ดี และ upper ที่ระบายอากาศดีและแห้งค่อนข้างเร็ว ถือเป็นการต่อยอดจากรุ่น 7 ที่ทำได้ดีเลยครับ การใช้ EVERUN แบบเต็มเท้าก็ช่วยให้ความรู้สึกที่นุ่มเท้าขึ้นในจังหวะลงเท้า สำหรับ Marl Kinvara 8 การใช้ upper เป็นผ้า knit ทอไร้ตะเข็บทำให้กระชับและสวมใส่ได้นุ่มสบายขึ้น ก็หวังว่ารุ่นถัดไปจะมี upper ผ้า knit ที่มีสีสรรหลากหลายมากขึ้นนะครับ
ส่วน outsole ที่เป็นร่องแบบ zig-zag ก็มีการยึดเกาะและมีความยืดหยุ่นที่ดีอยู่แล้วตั้งแต่รุ่น 7 จะวิ่งถนนเปียกหรือแห้งก็ยึดเกาะได้ดีไม่มีปัญหา ใครที่กำลังมองหารองเท้าวิ่งน้ำหนักเบาและมี responsive ดี วิ่งสนุก Kinvara 8 ก็ยังคงสืบต่อความสำเร็จของตระกูล Kinvara และเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่ดีของรองเท้าวิ่งในท้องตลาดตอนนี้ครับ หากสนใจรายละเอียดอื่นๆ เพิ่มเติมสามารถสอบถามข้อมูลได้ที่ Saucony Thailand ครับ
Pros
- หน้าเท้าค่อนข้างกว้าง
- ใช้วัสดุและมีการตัดเย็บที่ดี
- น้ำหนักเบามาก
- การยึดเกาะถนนดี
- ระบายอากาศดี
Cons
- ไม่ค่อยเหมาะกับคนที่วิ่งลงส้นแรงๆ (heel striker)
- คนเท้า 2E อาจต้องรอ upper ยืดเพื่อให้ toebox กว้างขึ้น
'เมนท์ที่นี่จ้า